ตรวจอาการเส้นเอ็นอักเสบ/ปลอกหุ้มเอ็นอักเสบ (Tendinitis/Tendosynovitis)เส้นเอ็นที่พบว่าเกิดการอักเสบได้บ่อย ได้แก่ เส้นเอ็นที่ข้อไหล่ ข้อศอก ข้อมือ นิ้วมือ ข้อสะโพก และเส้นเอ็นร้อยหวาย (เอ็นส้นเท้า) บางครั้งอาจมีการอักเสบของปลอกหุ้มเส้นเอ็นร่วมด้วยเรียกว่า เอ็นและปลอกหุ้มเอ็นอักเสบ (tendosynovitis)
โรคนี้พบได้ค่อนข้างบ่อย พบมากในวัยกลางคน ผู้สูงอายุ นักกีฬา และผู้ที่ทำกิจกรรมอยู่ในท่าเดิมซ้ำ ๆ ประจำ เป็นโรคที่ไม่มีอันตรายร้ายแรง แต่อาจเป็นเรื้อรังและทำให้ทำงานหรือเคลื่อนไหวไม่ถนัด
มีชื่อเรียกเฉพาะสำหรับการอักเสบของเส้นเอ็นตามตำแหน่งต่าง ๆ เช่น
โรคข้อศอกนักเทนนิส (tennis elbow) เป็นการอักเสบของเส้นเอ็นบริเวณข้อศอก (epicondylitis) พบบ่อยในนักกีฬาเทนนิส นักกอล์ฟ ช่างไม้ ช่างทาสี
โรคข้อไหล่นักว่ายน้ำ (swimmer’s shoulder) เป็นการอักเสบของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นบริเวณไหล่ (rotator cuff tendinitis) พบบ่อยในนักว่ายน้ำ นักเทนนิส นักยกน้ำหนัก
โรคเดอเกอร์แวง (de Quervain’s disease) หรือโรคปลอกเอ็นหุ้มข้อมืออักเสบ เป็นการอักเสบของเส้นเอ็นและปลอกหุ้มที่ควบคุมการเคลื่อนไหวนิ้วหัวแม่มือ พบบ่อยในนักกีฬา นักดนตรี แม่บ้าน คนงาน และผู้ที่ต้องเคลื่อนไหวข้อมือ หรือใช้นิ้วหัวแม่มือซ้ำ ๆ เป็นประจำ
โรคนิ้วล็อก (trigger finger) เป็นการอักเสบของเส้นเอ็นที่บังคับการงอนิ้วมือ (digital flexor tendosynovitis) ทำให้เวลางอนิ้วแล้วเหยียดคืนให้ตรงไม่ได้ เนื่องเพราะเส้นเอ็นที่อักเสบบวมเกิดการล็อกกับปลอกหุ้มทำให้ไม่สามารถเคลื่อนนิ้วได้ พบบ่อยในนักกีฬาเทนนิส แบดมินตัน กอล์ฟ คนทำสวน และผู้ที่ใช้มือหยิบกำของแข็ง ๆ เป็นประจำ
สาเหตุ
การอักเสบของเส้นเอ็น (tendon) และปลอกหุ้ม (sheat) มักมีสาเหตุจากการได้รับบาดเจ็บ ทำงานหนัก หรือทำกิจกรรมที่มีการใช้เส้นเอ็นส่วนนั้นซ้ำ ๆ ประจำ เกิดการบาดเจ็บเรื้อรัง
อาการ
มีอาการเจ็บปวดตรงเส้นเอ็นที่อักเสบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่ทำให้เส้นเอ็นส่วนนั้นถูกยืดและดึงรั้ง
อาการมักจะเป็นอยู่นานเป็นสัปดาห์ ๆ หรือเป็นเดือน ๆ เช่น
โรคเดอเกอร์แวง จะมีอาการเจ็บข้อนิ้วมือด้านนิ้วหัวแม่มือเวลาเหยียดหรืองอหัวแม่มือ กวาดพื้น ยกขันน้ำ บิดผ้า เป็นต้น
โรคนิ้วล็อก จะมีอาการงอนิ้วแล้วเหยียดออกเองไม่ได้ ต้องใช้มืออีกข้างจับเหยียดขึ้น
ภาวะแทรกซ้อน
ทำให้เคลื่อนไหวข้อได้ลำบาก กระทบต่อการทำกิจวัตรประจำวัน
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้
เวลาเคลื่อนไหวข้อจะเจ็บ ทำให้เคลื่อนไหวข้อได้ในขอบเขตจำกัด
เมื่อใช้นิ้วมือกดแรง ๆ จะพบจุดที่กดเจ็บ ซึ่งอยู่ใกล้บริเวณข้อ บางรายอาจมีอาการบวมของเส้นเอ็นส่วนนั้นร่วมด้วย
ผู้ที่เป็นโรคเดอเกอร์แวงจะมีอาการกำมือและบิดข้อมือไม่ได้
ผู้ที่เป็นโรคนิ้วล็อก จะงอนิ้ว (เช่น กำมือ) ได้เอง แต่เหยียดนิ้วที่ผิดปกตินั้นเองไม่ได้ ต้องใช้มืออีกข้างหนึ่งช่วยเหยียด
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. แนะนำให้ผู้ป่วยหยุดพักการใช้ข้อที่ปวด ใช้น้ำอุ่นจัด ๆ ประคบ (ในรายที่เกิดจากการบาดเจ็บเฉียบพลัน ควรใช้น้ำแข็งหรือน้ำเย็นประคบทันที และทำซ้ำทุก 3-4 ชั่วโมง จนพ้น 48 ชั่วโมงจึงเปลี่ยนมาประคบด้วยน้ำอุ่น) ทานวดด้วยขี้ผึ้งน้ำมันระกำหรือยาหม่อง ใช้ผ้าพันแผลชนิดยืดพันให้พอแน่น หรือใส่ปลอกรัดหุ้มพยุงข้อ (เช่น wrist support สำหรับข้อมือ, elbow support สำหรับข้อศอก) หรือใส่เฝือก
ถ้ามีอาการปวด ใช้น้ำแข็งหรือน้ำเย็นประคบ และให้กินยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนก ไพร็อกซิแคม นาโพรเซน) เมื่อทุเลาปวดให้ค่อย ๆ เคลื่อนไหวบริหารข้อนั้นให้คืนสู่สภาพปกติ
2. ถ้าอาการไม่ดีขึ้นใน 2 สัปดาห์ หรือเป็นรุนแรง แพทย์จะให้การรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัด และการบำบัดด้วยคลื่นกระแทก (shock wave therapy) เพื่อลดปวดและการซ่อมสร้างเนื้อเยื่อใหม่ (re-healing)
บางรายอาจต้องเอกซเรย์เพื่อตรวจหาสาเหตุอื่น และดูว่ามีหินปูนหรือแคลเซียมเกาะที่เส้นเอ็นหรือไม่
ในรายที่เป็นมาก อาจต้องฉีดสเตียรอยด์ตรงบริเวณที่ปวด (การฉีดยาชนิดนี้อาจทำให้ปวดมาก บางครั้งอาจต้องผสมยาชา) ซึ่งเป็นวิธีรักษาที่ได้ผลดี แต่ไม่ควรฉีดเกินปีละ 2-3 ครั้ง อาจทำให้เส้นเอ็นเปื่อยฉีกขาด เกิดภาวะแทรกซ้อนยุ่งยากตามมาได้
ในรายที่เป็นเรื้อรังหรือเส้นเอ็นมีหินปูนเกาะ มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว อาจต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัด
การดูแลตนเอง
ถ้ามั่นใจหรือได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเส้นเอ็นอักเสบ ควรดูแลตนเองดังนี้
ประคบด้วยน้ำอุ่นจัด ๆ หรือแช่น้ำอุ่นจัด ๆ ครั้งละ 15-30 นาที วันละ 2-3 ครั้ง เพื่อลดอาการอักเสบ และใช้ขี้ผึ้งน้ำมันระกำ (salicylate ointment) หรือยาหม่องทานวด
ใช้ผ้าพันแผลชนิดยืด (elastic bandage) พันพอแน่น หรือใส่ปลอกรัดหุ้มพยุงข้อ
พักการใช้ข้อจนกว่าอาการปวดจะทุเลา
ถ้าปวด ใช้น้ำแข็งประคบนาน 15-30 นาที กินยาแก้ปวด พาราเซตามอล* หรือยาที่แพทย์แนะนำ
เมื่อเริ่มทุเลาแล้ว หมั่นบริหารข้อตามคำแนะนำของแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด
ควรปรึกษาแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
มีอาการปวดมาก หรือเคลื่อนไหวข้อลำบาก
ดูแลตนเอง 1 สัปดาห์แล้วไม่ทุเลา
มีประวัติการแพ้ยา เป็นสตรีที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร หรือผู้มีโรคตับ โรคไต หรือโรคประจำตัวอื่น ๆ ที่มีการใช้ยาหรือแพทย์นัดติดตามการรักษาอยู่เป็นประจำ
หลังกินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจที่จะดูแลตนเอง
*เพื่อความปลอดภัย ควรขอคำแนะนำวิธีและขนาดยาที่ใช้ ผลข้างเคียงของยา และข้อควรระวังในการใช้ยา จากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ โดยเฉพาะการใช้ยาในเด็ก สตรีที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวหรือมีการใช้ยาบางชนิดที่แพทย์สั่งใช้อยู่เป็นประจำ
การป้องกัน
หลีกเลี่ยงการใช้งานของข้ออย่างหนัก (เช่น การบิดข้อมือ หรือกำมือแรง ๆ การเล่นกีฬาที่รุนแรง) หมั่นบริหารข้อเป็นประจำ เวลาเล่นกีฬาควรทำการอบอุ่นร่างกายก่อนเสมอ
ข้อแนะนำ
ขณะที่มีอาการเจ็บปวดเส้นเอ็น ควรพักการใช้งานให้เต็มที่และหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวในท่าที่ทำให้ปวด แต่เมื่อเริ่มทุเลาแล้ว ควรหมั่นบริหารข้อ (ตามคำแนะนำของแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด) เพื่อป้องกันไม่ให้ยึดติดและคืนสภาพปกติโดยเร็ว