โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD)COPD (Chronic Obstructive Pulmonary Disease) หรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เกิดจากปอดได้รับความเสียหายอย่างเรื้อรังจนก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ ผู้ป่วยจะมีอาการของโรคถุงลมโป่งพองและหลอดลมอักเสบเรื้อรังเกิดขึ้นร่วมกัน เช่น ไอแบบมีเสมหะ รู้สึกเหนื่อยหอบ หายใจมีเสียงหวีดในลำคอ แน่นหน้าอก เป็นต้น
อาการของ COPD
อาการของ COPD พัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไปในเวลาหลายปี ในช่วงแรกอาจไม่มีอาการใด ๆ มีอาการเพียงเล็กน้อย หรือมีอาการแย่ลงเมื่อโรคทวีความรุนแรงขึ้น และอาการอาจกำเริบเป็นระยะเฉลี่ยปีละ 1-2 ครั้ง และอาจทำให้ทรุดป่วยทันทีทันใด ทั้งนี้ ความรุนแรงของอาการในผู้ป่วยแต่ละรายขึ้นอยู่กับความเสียหายของปอดด้วย โดยอาการของ COPD ที่พบได้บ่อย ได้แก่
หอบ โดยเฉพาะเวลาต้องออกแรงหรือทำกิจวัตรประจำวัน
ไอหรือไอเรื้อรัง มีเสมหะเหนียวข้นปริมาณมาก
หายใจลำบาก มีเสียงหวีดในลำคอตลอดเวลา
เกิดการติดเชื้อที่ปอดบ่อย ๆ
อาการอื่น ๆ ที่บ่งบอกว่าโรคเริ่มรุนแรง แต่อาจพบได้น้อย ได้แก่ เหนื่อยง่าย น้ำหนักลด แขน ขา หรือข้อเท้าบวม กล้ามเนื้ออ่อนแรง เจ็บแน่นหน้าอก ไอเป็นเลือด เป็นต้น หากพบอาการรุนแรงดังกล่าว หรืออาการที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้นจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงพูดหรือหายใจลำบาก ปากและเล็บเปลี่ยนเป็นสีม่วง หัวใจเต้นเร็ว ไม่มีอาการตื่นตัว ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
อย่างไรก็ตาม อาการในข้างต้นอาจมีความคล้ายคลึงกับบางโรค เช่น โรคหอบหืด โรคหลอดลมอักเสบ ภาวะโลหิตจาง หรือภาวะหัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยที่พบอาการต้องสงสัยควรปรึกษาแพทย์ถึงอาการที่เกิดขึ้นเพื่อรับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป และผู้ที่สูบบุหรี่หรือมีประวัติเคยสูบบุหรี่
สาเหตุของ COPD
โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังอาจเกิดจากสาเหตุ ดังนี้
COPD เกิดจากปอดและระบบทางเดินหายใจได้รับความเสียหายจนเกิดการอักเสบ สาเหตุส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับการได้รับสารอันตรายเข้าสู่ร่างกายเป็นเวลานาน หรืออาจเกิดจากหลายปัจจัยรวมกัน ได้แก่ การสูบบุหรี่ เป็นสาเหตุหลักที่พบได้บ่อยของ COPD เนื่องจากสารเคมีอันตรายในบุหรี่สามารถทำลายผนังด้านในของปอดและระบบทางเดินหายใจได้ รวมไปถึงการสูดเอาควันบุหรี่จากผู้อื่นหรือการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกประเภทก็อาจเพิ่มความเสี่ยงได้ แต่ผู้ป่วยบางรายที่ไม่สูบบุหรี่ก็อาจเกิดโรคนี้ได้เช่นกัน
การสูดดมควัน ฝุ่น หรือสารเคมี การทำงานในสภาพแวดล้อมหรือสถานที่ที่ต้องหายใจเอาฝุ่นผง ละอองสารเคมี หรือควันบางชนิดในปริมาณมากและติดต่อกันเป็นเวลานานสามารถสร้างความระคายเคืองกับระบบทางเดินหายใจ ทำลายเนื้อเยื่อปอด ส่งผลให้การทำงานของปอดแย่ลงได้ เช่น ไอหรือฝุ่นแคดเมียมในอุตสาหกรรมโลหะหนัก ฝุ่นผงจากแป้งหรือธัญพืช ควันจากการเชื่อมเหล็กหรือโลหะ ฝุ่นหินทราย สารไอโซไซยาเนตในงานพ่นสี เป็นต้น
มลพิษทางอากาศ การสูดเอาอากาศที่มีการปนเปื้อนเป็นเวลานานจะส่งกระทบต่อการทำงานของปอดและอาจทำให้เกิด COPD ได้
พันธุกรรม ผู้ป่วย COPD บางรายอาจป่วยด้วยโรคทางพันธุกรรมหายากจากการขาดอัลฟ่า 1 (Alpha-1-Antitrypsin Deficiency) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่สร้างจากตับและจะไหลเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อช่วยปกป้องปอดไม่ให้ได้รับความเสียหาย โดยการขาดอัลฟ่า 1 จะส่งผลให้ตับและปอดถูกทำลาย ผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคนี้จึงมีแนวโน้มเกิด COPD ได้ก่อนอายุ 35 ปี โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติการสูบบุหรี่เป็นเวลานาน แต่บางกรณีอาจเกิดขึ้นกับเด็กหรือผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ได้เช่นกัน
ส่วนปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดโรคนี้ ได้แก่
โรคประจำตัว เช่น ผู้ที่เป็นโรคหอบหืดแล้วสูบบุหรี่
อายุ COPD จะค่อย ๆ เกิดอาการอย่างช้า ๆ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มักตรวจพบโรคเมื่ออายุมากขึ้น โดยเฉลี่ยอายุ 40 ปีขึ้นไป
เด็กที่คลอดก่อนกำหนด อาจส่งผลให้เกิดการเจริญเติบโตผิดปกติของหลอดลมและเนื้อปอด ซึ่งอาจกลายเป็น COPD ได้ในภายหลัง
การวินิจฉัย COPD
แพทย์จะวินิจฉัยโรคโดยเริ่มจากการซักประวัติทั่วไป เช่น อาการผิดปกติ ประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยและครอบครัว ตรวจดูความเหมาะสมของน้ำหนักตัว พฤติกรรมการสูบบุหรี่หรือได้รับควันบุหรี่จากผู้อื่น เป็นต้น จากนั้นอาจตรวจร่างกายเบื้องต้นและตรวจด้านอื่น ๆ ดังนี้
การตรวจสมรรถภาพปอดโดยใช้สไปโรเมตรีย์ (Spirometry) เป็นการตรวจดูการทำงานของปอดจากการวัดปริมาตรอากาศหายใจภายในปอดและความเร็วที่หายใจออกแต่ละครั้ง โดยก่อนตรวจแพทย์อาจให้ยาพ่นขยายหลอดลมก่อน แล้วจึงค่อยให้ผู้ป่วยเป่าลมหายใจผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า สไปโรเมตรีย์ วิธีนี้ยังช่วยวินิจฉัยความรุนแรงของโรค ผลการรักษา และประสิทธิภาพของการใช้ยาได้ด้วย
การตรวจเอกซเรย์ทรวงอก เป็นการเอกซเรย์ดูความผิดปกติของปอดและอวัยวะบริเวณช่วงอก ซึ่งบางรายอาจตรวจพบถุงลมโป่งพอง และวิธีนี้ช่วยให้แพทย์แยกอาการผิดปกติที่คล้ายคลึงกันออกจากโรคอื่น ๆ ด้วย เช่น การติดเชื้อที่ทรวงอก มะเร็งปอด เป็นต้น
การตรวจเลือด แพทย์อาจตรวจเลือดเพื่อแยกโรคบางชนิด เช่น โรคโลหิตจาง ภาวะเม็ดเลือดแดงข้น หรือโรคถุงลมโป่งพองจากการขาดอัลฟ่า 1
การตรวจซีที สแกน เป็นการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่ทำให้แพทย์ทราบรายละเอียดของความผิดปกติที่ปอดมากขึ้น และวางแผนการรักษาขั้นต่อไปได้อย่างเหมาะสม แต่อาจจำเป็นในผู้ป่วยบางรายเท่านั้น เช่น ใช้ประเมินว่าผู้ป่วยได้รับประโยชน์จากการผ่าตัดมากน้อยแค่ไหน ตรวจหาถุงลมโป่งพอง และคัดกรองมะเร็งปอด เป็นต้น
การตรวจอื่น ๆ เช่น การวัดความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง การตรวจเสมหะดูการติดเชื้อ
การรักษา COPD
แพทย์จะรักษาผู้ป่วยตามอาการและแนะนำให้หลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดโรค เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนและชะลอความรุนแรงของโรค เพราะ COPD ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ควบคุมอาการไม่ให้แย่ลง โดยการรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคด้วย ดังนี้
การเลิกสูบบุหรี่ การเกิดโรคแต่ละรายจะมีสาเหตุแตกต่างกันออกไป แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยหยุดปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรค โดยเฉพาะการสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่จะเร่งการดำเนินโรคให้เร็วขึ้น เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย และมีอาการแย่ลงอย่างรวดเร็ว
การหลีกเลี่ยงมลพิษและสารเคมี มลพิษและสารเคมีเป็นอีกปัจจัยที่กระตุ้นให้อาการของโรคแย่ลง ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง หากมีความจำเป็นควรสวมเครื่องป้องกันเสมอ เพื่อลดการสูดเอาสารอันตรายเข้าสู่ร่างกาย และชะลอการกำเริบอย่างรุนแรงของโรค
การใช้ยา แพทย์จะใช้ยาหลายชนิดรักษาร่วมกันตามอาการและภาวะแทรกซ้อนของโรค โดยยาที่ใช้มีอยู่หลายกลุ่ม ดังนี้
ยาขยายหลอดลม เป็นยาช่วยคลายกล้ามเนื้อทางเดินหายใจ เพื่อช่วยให้หายใจง่ายขึ้น ส่วนใหญ่เป็นยาในรูปแบบสูดพ่นผ่านเครื่องมือสูดพ่นยา ทำให้ผู้ป่วยได้รับยาเข้าสู่ปอดโดยตรงขณะหายใจ กลุ่มยาที่นิยมใช้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
ยาชนิดออกฤทธิ์สั้น สำหรับรักษาผู้ป่วยที่มีอาการกำเริบเป็นระยะ เช่น ยาไอปราโทรเปียม ยาซัลบูทามอล หรือยาซัลบูทามอลใช้ร่วมกับยาไอปราโทรเปียม
ยาชนิดออกฤทธิ์ยาว ใช้ป้องกันอาการเกี่ยวกับการหายใจที่เกิดเป็นประจำ เช่น ยาไทโอโทรเปียม ยาฟอร์โมเทอรอล ยาซาลเมเทอรอล หรือเป็นยาผสมกัน 2 ชนิดขึ้นไป เช่น ใช้ยากระตุ้นตัวรับชนิดเบต้า 2 รักษาร่วมกับยาคอร์ติโคสเตียรอยด์
ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ มีทั้งชนิดรับประทานและสูดพ่น โดยยาพ่นสเตียรอยด์มักใช้รักษาร่วมกับยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์ยาว
ยาปฏิชีวนะ ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยติดเชื้อบริเวณทรวงอก เช่น โรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน โรคปอดบวม โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น อีกทั้งยาชนิดนี้ยังป้องกันภาวะแทรกซ้อนและอาการของโรคไม่ให้รุนแรงมากกว่าเดิมด้วย
ยาชนิดอื่น ๆ เช่น ยาทีโอฟิลลีน อาจช่วยให้หายใจได้สะดวกขึ้น และป้องกันการกำเริบของโรค
การรักษาอื่น ๆ เป็นการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการระดับปานกลางถึงรุนแรง เช่น
การฟื้นฟูสมรรถภาพปอด เป็นการรักษาที่มุ่งเน้นให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ควบคุมอาการไม่ให้แย่ลง และให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ผู้ป่วยจะได้เรียนรู้การปรับตัวอย่างถูกวิธี เช่น การออกกำลังกายอย่างเหมาะสม การรับประทานอาหาร การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และจิตใจ การดูแลตนเองและอยู่ร่วมกับครอบครัว เป็นต้น
การบำบัดด้วยออกซิเจน การบำบัดด้วยออกซิเจนจะช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตผู้ป่วยให้ดีขึ้น เพราะผู้ป่วยที่มีอาการค่อนข้างรุนแรงมักได้รับออกซินเจนไม่เพียงพอจากเลือด ทำให้ต้องได้รับออกซิเจนเข้าสู่ปอดผ่านเครื่องมือต่าง ๆ ซึ่งอาจใช้ในช่วงเวลาสั้น ๆ เมื่อต้องทำกิจกรรมใด ๆ หรืออาจให้ออกซิเจนแบบระยะยาว โดยแพทย์จะพิจารณาจากความรุนแรงของอาการ
การผ่าตัด หากรักษาด้วยยาหรือวิธีอื่นไม่ได้ผล ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการผ่าตัด โดยแพทย์จะพิจารณาความเหมาะสมและใช้วิธีนี้เฉพาะบางกรณีเท่านั้น เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงมากกว่าวิธีอื่น ซึ่งการผ่าตัดมีอยู่หลายประเภท เช่น การผ่าตัดถุงลมขนาดใหญ่ออก การผ่าตัดเพื่อลดขนาดปอด เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อหายใจกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการปลูกถ่ายปอดสำหรับผู้ป่วยวิกฤต เพื่อช่วยเพิ่มความสามารถในการหายใจ
การประเมินการรักษาจากความรุนแรงของโรค
แพทย์จะตรวจประเมินความรุนแรงของโรค โดยแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ดังนี้
ระดับ 1 ไม่รุนแรง ไม่สามารถสังเกตอาการได้อย่างชัดเจน เป็นอาการทั่วไปที่อาจเกิดได้จากโรคอื่น ๆ แต่จะค่อย ๆ มีอาการรุนแรงขึ้น เช่น ผู้ป่วยอาจเริ่มไอเรื้อรังและมีเสมหะมาก การรักษาขั้นนี้จะเริ่มใช้ยาขยายหลอดลม
ระดับ 2 ปานกลาง อาการของโรคเริ่มสังเกตเห็นได้ เช่น ไอ มีเสมหะมาก หายใจลำบาก การรักษาอาจต้องใช้ยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์ยาว เพราะอาการคงอยู่นานและไม่หายไป
ระดับ 3 รุนแรง อาการของโรคเกิดขึ้นถี่มากขึ้น บางครั้งอาจกำเริบฉับพลันและรุนแรงเป็นระยะ ทำให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมปกติได้ลำบาก แพทย์มักจะรักษาด้วยการใช้ยาควบคู่กับวิธีอื่น ๆ
ระดับ 4 รุนแรงมาก อาการที่เป็นอยู่รุนแรงจนไม่สามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ หรือหัวใจเกิดความผิดปกติ และอาจมีอาการกำเริบจนเป็นอันตรายถึงชีวิต ซึ่งแพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมตามอาการต่อไป
ภาวะแทรกซ้อนของ COPD
อาการของ COPD มักส่งผลให้การทำกิจวัตรประจำวันยากลำบากขึ้น เช่น เดินไม่สะดวก ขึ้นบันไดไม่ได้ บางรายต้องใช้เครื่องช่วยหายใจซึ่งกระทบต่อการนอนหลับ หากอาการของโรครุนแรงมากอาจทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ และอาจนำไปสูู่ภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะอื่น ๆ ได้อีกหลายประการ เช่น
ภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูง COPD อาจทำให้ความดันหลอดเลือดที่นำเลือดไปสู่ปอดเพิ่มสูงขึ้น
การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะเป็นหวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม และโรคอื่น ๆ ที่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ทำให้ผู้ป่วยหายใจลำบากมากกว่าเดิมและอาจมีเนื้อเยื่อปอดที่ถูกทำลายจนเสียหายได้
โรคหัวใจ ผู้ป่วยมีโอกาสเกิดโรคหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือหัวใจข้างขวาล้มเหลว
โรคกระดูกพรุน ผู้ป่วยอาจมีภาวะกระดูกพรุนได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ที่รับประทานยาคอร์ติโคสเตียรอยด์
ภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศ หรือโรคปอดแตก เป็นภาวะที่มีลมในช่องเยื่อหุ้มปอด เนื่องจากโครงสร้างของปอดถูกทำลายจนเสียหาย ทำให้อากาศไหลเข้าสู่ช่องอก
มะเร็งปอด ผู้ป่วย COPD มีโอกาสเกิดโรคมะเร็งปอดได้ง่ายกว่าคนทั่วไป เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงร่วมกันหลายสาเหตุ โดยเฉพาะการสูบบุหรี่
โรคซึมเศร้า อาการของโรคอาจทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ จนทำให้เกิดความรู้สึกเศร้า หดหู่ และเกิดอารมณ์ด้านลบอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดโรคซึมเศร้าได้
การป้องกัน COPD
การป้องกัน COPD อาจทำได้เฉพาะบางสาเหตุ เพราะปัจจัยบางอย่างไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ การทราบประวัติด้านสุขภาพของตนเองและครอบครัวจะช่วยหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ รวมทั้งการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดังนี้
ไม่สูบบุหรี่ เลิกบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการรับควันบุหรี่มือสอง บุหรี่หรือยาสูบทุกชนิดล้วนประกอบด้วยสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ และเป็นสาเหตุหลักของโรคนี้ การใช้สารเหล่านี้เป็นเวลานานจะเร่งให้เกิดโรคขึ้นมาได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงเกิดโรคนี้สูง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่เป็นโรคพันธุกรรมจากการขาดโปรตีนอัลฟ่า 1 หรือผู้ที่เป็นโรคหืด
หลีกเลี่ยงมลพิษทางอากาศ การสูดดมอากาศที่ปนเปื้อนสารเคมี ฝุ่นละออง หรือสารใด ๆ ในปริมาณมากสามารถสร้างความระคายเคืองแก่ระบบทางเดินหายใจและอาจก่อปัญหาสุขภาพตามมาได้ จึงควรสวมอุปกรณ์ป้องกันหรือหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูงเป็นเวลานาน