โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon Cancer)มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon Cancer) คือมะเร็งที่เกิดกับส่วนใดส่วนหนึ่งในลำไส้ใหญ่ โดยเริ่มตั้งแต่ส่วนที่ต่อจากลำไส้เล็กไปจนถึงส่วนปลายที่ติดกับทวารหนัก การเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนมากจะเริ่มจากการเกิดติ่งเนื้อขนาดเล็กภายในลำไส้ใหญ่จนเกิดการพัฒนากลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
จากสถิติทะเบียนมะเร็งประเทศไทยพบว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็น 1 ใน 5 มะเร็งชนิดที่พบมากในคนไทย และมีอัตราการเกิดโรคสูงขึ้นต่อเนื่องทุกปี ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การรับประทานอาหาร การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และภาวะน้ำหนักเกิน ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
อาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่
ผู้ป่วยแต่ละคนอาจมีอาการที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับขนาดและบริเวณที่เกิดเนื้องอก ในผู้ป่วยบางรายอาจจะไม่มีอาการในช่วงแรกเริ่มได้เป็นระยะเวลาหลายปี แต่เมื่อโรคเกิดการพัฒนาจนรุนแรงขึ้นถึงจะมีอาการแสดงออก ซึ่งอาการที่พบได้บ่อยมีดังนี้
พฤติกรรมการขับถ่ายเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และมักเกิดขึ้นนานหลายสัปดาห์ เช่น ท้องเสีย ท้องผูก และลักษณะอุจจาระที่เปลี่ยนไป
ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด
รู้สึกถ่ายไม่สุด
ปวดท้อง รู้สึกแน่นอึดอัดบริเวณช่วงท้องเหมือนมีแก๊สในท้อง และท้องอืด
อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
น้ำหนักลงโดยไม่มีสาเหตุ
หากสังเกตว่าเริ่มมีอาการหลายอย่างของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ข้างต้น โดยเฉพาะการถ่ายเป็นเลือดหรือพฤติกรรมการขับถ่ายเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเบื้องต้นเพื่อค้นหาโรค เพราะโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ไม่มีอาการที่เฉพาะเจาะจง
สาเหตุของมะเร็งลำไส้ใหญ่
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนใหญ่ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด แต่พบปัจจัยที่มีส่วนที่ทำให้เกิดโรคได้หลายปัจจัย ดังนี้
การกลายพันธุ์ของยีน
ยีนที่เกิดการกลายพันธุ์จะไม่สามารถควบคุมการทำงานของเซลล์จนเติบโตกลายเป็นเซลล์มะเร็งลุกลามไปยังเซลล์ข้างเคียงก่อนจะก่อตัวเป็นเนื้อร้ายได้ ซึ่งยีนอยู่ในทุกเซลล์ของร่างกาย และจะถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมที่ควบคุมการทำงานเซลล์ต่าง ๆ จากรุ่นไปสู่อีกรุ่น
การรับประทานอาหาร
รูปแบบการรับประทานอาหารที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นแบบตะวันตกมากขึ้น ซึ่งเป็นอาหารประเภทไขมันสูงและมีกากใยอาหารต่ำ โดยพบว่าผู้ที่มีรูปแบบการรับประทานอาหารในลักษณะนี้เกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มากขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถบอกได้อย่างชัดถึงความสัมพันธ์ของการเกิดโรคกับลักษณะอาหารที่รับประทาน
นอกจากนี้ มะเร็งลำไส้ถูกกระตุ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น
พันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยเฉพาะญาติสายตรง เช่น พ่อ แม่ พี่หรือน้อง จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรค และความเสี่ยงจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเมื่อญาติที่ป่วยมีประวัติเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ก่อนอายุ 45 ปี
อายุที่เพิ่มมากขึ้น ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามวัย โดยเฉพาะผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ในรายที่มีอายุน้อยก็สามารถพบได้ แต่มีจำนวนไม่มาก
การอักเสบของลำไส้ อาจมาจากโรคเรื้อรังที่เกี่ยวข้องกับลำไส้ใหญ่ เช่น ลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง หรือโรคโครห์น
วิถีชีวิตที่ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย
การสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์
การเข้ารับการฉายแสงในการรักษามะเร็งบริเวณช่วงท้อง
โรคอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน
การวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ใหญ่
เมื่อคาดการณ์ว่ามีแนวโน้มเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการสังเกตอาการของโรค แพทย์จะสอบถามประวัติอาการและการรักษาตัวของผู้ป่วย ประวัติการป่วยของบุคคลในครอบครัว ตรวจร่างกายอย่างละเอียด โดยเฉพาะบริเวณท้อง และอาจตรวจบริเวณทวารหนัก รวมไปถึงการตรวจพิเศษอื่น ๆ เช่น
การตรวจสวนแป้งลำไส้ใหญ่ (Barium Enema) หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า การสวนแป้ง โดยสวนแป้งแบเรียมที่เป็นสารทึบรังสีให้ผู้ป่วย ก่อนมีการถ่ายภาพเอกซ์เรย์การเคลื่อนตัวของแป้งแบเรียมผ่านระบบทางเดินอาหารในส่วนของลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง เพื่อตรวจหาเนื้องอกหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้น
การตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยเทคนิคภาพเสมือน (CT Colonoscopy) เป็นถ่ายภาพรังสีผ่านช่องท้องของผู้ป่วยด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) ก่อนใช้ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ในการสร้างภาพเสมือนจากภาพตัดขวาง เพื่อให้เห็นรายละเอียดภายในลำไส้ใหญ่ได้ดียิ่งขึ้น โดยไม่ต้องใช้กล้องสอดผ่านทวารหนักเข้าไปยังลำไส้ใหญ่
การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ เป็นการตรวจดูการทำงานของลำไส้ใหญ่ทั้งหมดผ่านกล้องส่องตรวจหลายประเภท เช่น Colonoscopy หรือ Sigmoidoscopy หากพบสิ่งผิดปกติที่น่าสงสัย แพทย์จะใช้เครื่องมือเพื่อเก็บชิ้นเนื้อบางส่วนของบริเวณที่พบสิ่งผิดปกติไปตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา (Biopsy) โดยแพทย์มักเลือกใช้วิธีนี้ในผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการรุนแรงอย่างการตรวจพบติ่งหรือก้อนเนื้อขนาดเล็กในลำไส้ใหญ่
ทั้งนี้ การตรวจเลือด (Blood Tests) ไม่สามารถบอกได้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือไม่ แต่เป็นการตรวจดูสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย เช่น การทำงานของไตและตับ เพื่อดูความผิดปกติในการทำงานของระบบทางร่างกาย
และตรวจระดับของคาร์ซิโนเอมบริโอนิก แอนติเจน (Carcinoembryonic Antigen: CEA) ซึ่งเป็นสารที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อร่างกายเป็นมะเร็ง เพื่อใช้ในการติดตามการรักษาของโรคในภายหลัง ซึ่งสารมะเร็งอาจสร้างได้จากมะเร็งชนิดอื่นด้วย จึงไม่สามารถใช้ผลการตรวจเลือดในการวินิจฉัยได้
การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่
มะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยต้องดูความรุนแรงของโรคและชนิดของมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ผู้ป่วยเป็น ทั้งนี้อาจใช้การรักษาเพียงวิธีเดียวในการรักษาหรือใช้หลายวิธีสลับกัน
การผ่าตัด
การผ่าตัดเป็นการรักษาหลักที่แพทย์มักใช้ในการรักษาผู้ป่วย ซึ่งขึ้นอยู่กับว่ามะเร็งเกิดบริเวณส่วนใด รุนแรงมากน้อยแค่ไหน การรักษาด้วยการผ่าตัดมักต้องรักษาควบคู่กับการทำเคมีบำบัด อาจเป็นก่อนหรือหลังการผ่าตัดก็ได้ โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ เพื่อช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
หากเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะเริ่มต้น แพทย์อาจมีการตัดก้อนเนื้อในขณะที่มีการส่องกล้องหรือผ่าตัดผ่านกล้อง เนื่องจากก้อนเนื้อยังมีขนาดเล็ก แต่กรณีที่ก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่และโรคเกิดการลุกลามมากขึ้น แพทย์อาจต้องผ่าตัดลำไส้ใหญ่บางส่วนที่เป็นก้อนเนื้อร้ายออก แล้วเย็บลําไส้ส่วนที่เหลือเข้าไว้ด้วยกัน และอาจมีการตัดเอาต่อมน้ำเหลืองออกไปตรวจเพิ่มเติม
ในกรณีที่แพทย์ไม่สามารถเย็บลำไส้ส่วนที่เหลือหลังจากผ่าเอาก้อนเนื้อออกได้ อาจจำเป็นต้องผ่าตัดเอาลำไส้ใหญ่ออกมาทางหน้าท้องชั่วคราว เพื่อต่อเข้ากับถุงสำหรับเก็บกากอาหารที่เหลือจากการย่อย เมื่อเวลาผ่านไป หากผู้ป่วยสามารถได้รับการเย็บต่อลำไส้ใหญ่ใหม่ได้เรียบร้อย จึงจะทำการเย็บปิดหน้าท้องเหมือนเดิม ยกเว้นในบางรายที่อาจจำเป็นต้องผ่าตัดเปิดหน้าท้องแบบถาวร
การรักษาด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy)
เคมีบำบัดหรือที่รู้จักกันในชื่อของ คีโม เป็นการใช้ยาในหลายรูปแบบ เช่น ยาฉีดหรือยารับประทาน เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตหรือทำลายเซลล์มะเร็งในร่างกาย ซึ่งอาจใช้ในกรณีต่าง ๆ ดังนี้
ก่อนวิธีการผ่าตัด เพื่อให้เซลล์มะเร็งมีขนาดเล็กลง
หลังการผ่าตัด เนื่องจากเซลล์มะเร็งได้มีการลุกลามเข้าไปในต่อมน้ำเหลือง และช่วยลดความเสี่ยงในการกลับมาของเซลล์มะเร็งได้
ใช้ในผู้ป่วยที่มีการกระจายของเซลล์มะเร็งไปทั่วร่างกาย เคมีบำบัดจะช่วยบรรเทาอาการของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
นอกจากนี้ ยังได้มีการพัฒนารูปแบบของการรักษาด้วยเคมีบำบัด ที่เรียกว่า ยาตรงเป้า (Targeted Therapy) ให้เป็นทางเลือกของการรักษาผู้ป่วยที่มีเซลล์มะเร็งตอบสนองต่อยา ซึ่งตัวยาจะมีฤทธิ์เข้าไปยับยั้งกระบวนการสร้างเซลล์มะเร็งโดยตรง ซึ่งแพทย์จำเป็นต้องตรวจชิ้นเนื้อจากก้อนมะเร็ง เพื่อให้ทราบผลการตอบสนองของเซลล์มะเร็งต่อยาก่อน
การฉายรังสี (Radiation Therapy)
การฉายรังสีเป็นวิธีการรักษาที่ใช้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะต้น ๆ โดยการฉายรังสีพลังงานสูงเข้าไปบริเวณที่มีก้อนมะเร็ง เพื่อช่วยลดขนาดของก้อนเนื้องอกให้เล็กลงก่อนการรักษาด้วยการผ่าตัด หรือใช้กำจัดเซลล์มะเร็งที่อาจเติบโตขึ้นมาใหม่หลังการผ่าตัด รวมไปถึงบรรเทาอาการที่เกิดจากโรค วิธีนี้มักใช้รักษาผู้ป่วยควบคู่กับการรักษาด้วยเคมีบำบัด
การดูแลผู้ป่วยแบบประคับปะคอรง (Supportive/Palliative Care)
การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองเป็นวิธีการดูแลผู้ป่วยที่มุ่งเน้นในการบรรเทาความเจ็บปวดและอาการร้ายแรงอื่น ๆ ที่ทำให้ทุกข์ทรมาน ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ แพทย์ พยาบาล รวมไปถึงครอบครัวของผู้ป่วยเอง โดยจะใช้ควบคู่กับวิธีการรักษาอื่นที่เหมาะสมไปด้วย เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น มีชีวิตที่ยาวนานขึ้น รวมไปถึงมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งตัวผู้ป่วยเองและครอบครัว
ภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งลำไส้ใหญ่
มะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลายกรณี โดยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งประเภทของมะเร็ง วิธีการรักษา การตอบสนองของร่างกายผู้ป่วยในหลาย ๆ ด้าน ทั้งนี้ ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันไปตามผู้ป่วยแต่ละราย
ผู้ป่วยอาจเสี่ยงต่อภาวะลำไส้ตีบตัน เนื่องจากการมีก้อนเนื้อมะเร็งขวางอยู่ภายในลำไส้ รวมไปถึงพบผลข้างเคียงหลังการรักษาในหลายด้าน เช่น แผลติดเชื้อหลังการผ่าตัด ภาวะเลือดออก ผลกระทบกระเทือนด้านจิตใจและอารมณ์ รู้สึกอ่อนเพลีย และเหนื่อยง่าย นอกจากนี้ผู้ป่วยในระยะลุกลามอาจเกิดมะเร็งบริเวณอวัยวะอื่นในร่างกาย เนื่องจากการแพร่กระจายเซลล์มะเร็งในกระแสเลือดสู่อวัยวะภายในร่างกาย
การป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่
มะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถป้องกันได้หลายวิธี คือ
ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่
คนทั่วไปควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ก่อนอายุ 50 ปี แต่หากเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะมีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคนี้ ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคนี้ก่อนอายุ 50 ปี และตรวจอย่างสม่ำเสมอ เพราะมีความเสี่ยงต่อโรคมากกว่าคนทั่วไป ซึ่งโปรแกรมการคัดกรองโรคในแต่ละวิธีมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเข้าร่วมโปรแกรม
เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการดำเนินชีวิต
การปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันบางอย่างอย่างค่อยเป็นค่อยไปจะช่วยลดความเสี่ยงของโรคลงได้ตามคำแนะนำต่อไปนี้
เน้นรับประทานผัก ผลไม้ และธัญพืช พยายามเลือกรับประทานผักและผลไม้ที่มีความหลากหลาย เนื่องจากเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุ วิตามิน กากใย และสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยต่อต้านการเกิดโรคมะเร็ง
เลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ ควรจำกัดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมในปริมาณที่พอเหมาะ โดยผู้ชายควรดื่มไม่เกินวันละ 2 หน่วยมาตรฐาน หรือผู้หญิงควรดื่มไม่เกิน 1 หน่วยมาตรฐานต่อวัน รวมไปถึงการไม่สูบบุหรี่ ซึ่งเป็นการนำเอาสารก่อมะเร็งเข้าสู่ร่างกายได้
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เลือกกิจกรรมที่ช่วยให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวหรือออกกำลังกายที่ชื่นชอบอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน
รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน การรักษาน้ำหนักตัวให้คงที่ควบคู่กับการออกกำลังกายและเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายจะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคภัยต่าง ๆ